วันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การจัดลำดับอาวุโสในราชการ

          เรามักจะได้ยินคำว่าอาวุโสทางราชการการเข้ามามีบทบาทให้การดำเนินการเรื่องเกี่ยวกับบุคคลกันบ่อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเลื่อนตำแหน่ง เรื่องของการย้าย หรืออื่นๆ ที่มีความจำเป็นที่จะต้องเปรียบเทียบกันระหว่างบุคคล หลายๆหน่วยงานได้เอาหลักอาวุโสมากำหนดเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ทั้งนี้จัดลำดับอาวุโสทางราชการเป็นข้อพิจารณาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และเป็นหลักที่ถือปฎิบัติกันมาจนเป็นที่ยอมรับ วันนี้ถ้าจะถามกันว่า แล้วที่จะเรียกว่าการพิจารณาอะไรก็ตามที่ต้องใช้หลักอาวุโสเราจะพิจารณากันอย่างไร ดูจากอะไร เอาคน 10 คนมาให้ความเห็นเรื่องนี้ ก็คงมีความหลากหลายแตกต่างกัน งั้นถ้าจะต้องสรุปเพื่อนำไปใช้เราจะยุติกันได้อย่างไร
          การจัดลำดับอาวุโสในราชการนั้น สำนักงาน ก.พ. เคยทำหนังสือเพื่อชี้แจงสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2529 ที่ นร0605/1184 ดังนี้ "สำหรับข้าราชการพลเรือนสามัญนั้นมิได้มีระเบียบแบบแผนในการจัดลำดับอาวุโสชัดเจน แต่สำนักงาน ก.พ. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าน่าจะจัดลำดับอาวุโสในราชการของข้าราชการดังกล่าวได้ตามลำดับ ดังนี้
          1. ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงกว่า ถือว่าผู้นั้นอาวุโสกว่า
          2. ถ้าเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งในระดับเดียวกัน ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับนั้นก่อน ถือว่าผู้นั้นอาวุโสกว่า
          3. ถ้าเป็นผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับเดียวกันพร้อมกัน ผู้ใดได้รับเงินเดือนมากกว่าถือว่าผู้นั้นอาวุโสกว่า
          4. ถ้าเป็นผู้ได้รับเงินเดือนเท่ากัน ผู้ใดมีอายุราชการมากกว่าถือว่าผู้นั้นอาวุโสกว่า
          5. ถ้าเป็นผู้มีอายุราชการเท่ากัน ผู้ใดได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในชั้นสูงกว่าถือว่าผู้นั้นอาวุโสกว่า
          6. ถ้าเป็นผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในชั้นเดียวกัน ผู้ใดได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นนั้นก่อนให้ถือว่าผู้นั้นอาวุโสกว่า
          7. ถ้าเป็นผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในชั้นเดียวกันพร้อมกัน ผู้ใดมีอายุแก่กว่าให้ถือว่าผู้นั้นอาวุโสกว่า"
          ผมว่า สพป.ชบ.3 ของเรามีหลักเกณฑ์หลายเรื่องที่ใช้หลักอาวุโส แต่เราเคยลองพิจารณาหลักเกณฑ์ที่กำหนดอย่างถ่องแท้ โดยไม่ใช้อคติใดๆเข้ามาข้องเกี่ยว แล้วลองหาคำตอบให้กับตัวเองซีครับว่า หลักที่กำลังใช้อยู่ในทุกวันนี้ ที่มีผลกระทบกับพวกเราไม่ว่าจะเป็นครู ผู้บริหาร หรือบุคลากรอื่น เป็นหลักที่ถูกหลักหรือไม่ ถ้ายังไม่ถูกเราควรทำอย่างไร

สิทธิเรื่องย้ายที่ครูอาจไม่รู้

          เกี่ยวกับเรื่องย้ายข้าราชการครูสายผู้สอน เพื่อนครูคงทราบดีว่า ในหนึ่งปี เราสามารถยื่นคำร้องขอย้ายได้สองครั้ง ดังนี้ คื
          ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 1-15  กุมภาพันธ์
          ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 1-15  สิงหาคม
         ส่วนหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการ ก็เป็นไปตามที่ ก.ค.ศ. และหลักเณฑ์การย้ายครูและบุคลากรทางการศึกษาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชลบุรี เขต 3 พ.ศ.2552 กำหนดซึ่งคาดว่า เพื่อนข้าราชการครูคงหาข้อมูลได้ไม่ยาก แต่ที่ผมจะนำมาเปิดประเด็นในวันนี้ คือเพื่อนข้าราชการครูที่ยื่นคำร้องขอย้ายเมื่อวันที่ 1-15 สิงหาคม 2553 ท่านสามารถแก้ไขคำร้องในส่วนที่เป็นโรงเรียนที่จะย้ายไปได้โดยให้ทำเรื่องผ่านผู้บริหารสถานศึกษา (ตามหนังสือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาชลบุรี เขต 3 ที่ ศธ 04036/5004 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2553)
          สาเหตุที่ให้ดำเนินการแบบนี้ก็เนื่องจาก ณ วันที่ยื่นคำร้องขอย้าย ครูผุ้สอนไม่รู้ว่าจะมีโรงเรียนใดมีตำแหน่งว่างบ้าง ทั้งนี้เนื่องจาก ช่วงที่ต้องยื่นคำร้องขอย้าย ยังไม่มีตำแหน่งว่าง หลังจากยื่นคำร้องขอย้ายแล้ว จึงจะมีตำแหน่งว่าง (หลังจากเกษียณ/เออรี่) สพฐ.จึงจะจัดอัตรากำลังมาให้เขต อ.ก.ค.ศ.ชลบุรีเขต 3 จึงมีมติให้เขตแจ้งโรงเรียนที่มีอัตราว่าง และเพื่อความเป้นธรรมในเรื่องข้อมูลข่าวสาร จึงให้ผู้ที่เขียนย้ายขอแก้คำร้องขอย้ายได้หลังจากทราบว่า โรงเรียนใดมีอัตราว่างบ้าง
          ผมนำมาเล่า เพราะเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนครู ในการยื่นคำร้องขอย้าย จะได้ไม่ต้องเหมือนกับการซื้อหวยอีกต่อไปว่าจะเดาถูกหรือผิด

                                

จดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 2

จดหมายเปิดผนึกฉบับที่ 2

                                                                      13  ธันวาคม 2553

เรียน  ผู้บริหาร สพป.ชบ.3 ที่นับถือทุกท่าน

            จดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ เป็นฉบับที่ 2 หลังจากฉบับที่ 1 ออกไปเมื่อวันที่  2 พฤศจิกายน 2553 ก็ถือเป็นช่วงระหว่างพวกเราหยุดเรียน เพื่อให้ความร่วมมือกับจังหวัดชลบุรี ในโอกาสที่เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติครั้งที่ 39 ชลบุรีเกมส์ แต่เท่าที่ทราบหลายๆ โรงเรียนก็ต้องนำนักเรียนไปเป็นกองเชียร์ชมการแข่งขันกีฬา

            เพื่อผู้บริหารครับ วันนี้ มีการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาอัตราข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับจัดสรรคืนจากการเข้าร่วมมาตรการปรับปรุงอัตรากำลังของส่วนราชการ (โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด) ปีงบประมาณ 2553 ผมเป็นกรรมการคนหนึ่ง ในการพิจารณาในครั้งนี้ เห็นว่าเป็นเรื่องที่พวกเราควรรู้ เลยนำมาเล่าสู่กันฟัง เรื่องของเรื่องเป็น ดังนี้ครับ

            สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แจ้งว่า ตามที่ได้พิจารณาจัดสรรอัตราข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่เข้าร่วมมาตรการปรับปรุงอัตรากำลังของส่วนราชการ คืนให้เท่ากับจำนวนที่เข้าร่วมมาตรการแล้ว ปรากฏว่า มีบางเขตพื้นที่การศึกษา ที่หลังจากจัดสรรอัตราว่างข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาแล้ว จนมีครูครบตามเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ.กำหนดทุกโรงเรียนแล้ว  ตำแหน่งว่างที่เหลือ ก็ส่งคืนให้ สพฐ. เพื่อเกลี่ยให้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่มีความขาดครู การนี้ สพป.ชบ.3 ได้รับการจัดสรร 8 อัตรา สรุปให้เข้าใจง่ายๆ ก็หมายความว่า สพป.ชบ.3 ได้รับการจัดสรรอัตรากำลัง เนื่องจากข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เข้าร่วมมาตรการปรับปรุงอัตรากำลังของส่วนราชการ (โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด) ปีงบประมาณ 2553  2 ครั้ง

            เงื่อนไขในการจัดสรร สพฐ.กำหนดให้จัดสรรกับสถานศึกษาที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 1,000 คน ขึ้นไป และ มีความขาดครูตั้งแต่ร้อยละ 30 ขึ้นไปเป็นอันดับแรกก่อน คณะกรรมการก็พิจารณาตามเกณฑ์ครับ หลังจากตรวจสอบข้อมูลแล้ว ปรากฏว่า โรงเรียนที่มีนักเรียนเกิน 1,000 คน ขึ้นไปใน สพป.ชบ.3 มีทั้งสิ้น 4 โรงเรียนครับ และทั้ง 4 โรงเรียน ไม่มีโรงเรียนใดขาดเกณฑ์เกิน ร้อยละ 30 คณะกรรมการจึงมีมติให้จัดสรรโดยพิจารณาจากโรงเรียนที่ขาดเกณฑ์สูง โดยจัดสรรให้กับ 8 โรงเรียน โรงเรียนละ 1 คน ผมคาดว่า หลังจากวันที่ 14 ธันวาคม 2553 สพป.ชบ.3 คงแจ้งให้ทราบพร้อมข้อมูลอัตรากำลังของทุกโรงเรียน

            เพื่อนผู้บริหารครับ  เพื่อเป็นการทบทวนความจำ หลังจากวันที่ 1 ตุลาคม 2553 เป็นต้นมา สพป.ชบ.3 ได้จัดสรรอัตรากำลังให้กับโรงเรียนในสังกัด 2 ครั้งแล้วนะครับ

            ครั้งที่ 1 จัดสรรครูอัตราจ้างจาก สพฐ. 24 อัตรา ขณะนี้หลายๆโรงเรียนที่ได้รับจัดสรรกำลังเปิดรับโดยจ้างได้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 เป็นต้นไป

            ครั้งที่ 2 จัดสรรอัตราข้าราชการครู 8 อัตรา ครั้งนี้  ส่วนจะได้เมื่อไหร่นั้น ก็ติดตามดูนะครับ

            มีเพื่อผู้บริหารหลายคนสอบถามผมว่า ครูที่ได้รับจัดสรรแล้ว สพป.ชบ.3 ใช้บัญชีจากเขตอื่นนั้น พวกเราสงสัยกันว่า เมื่อไหร่จะได้ซะที วันนี้ (13 ธันวาคม 2553) ผมได้สอบถามเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบแล้ว ได้รับการชี้แจงว่า อีกไม่นาน เพราะตอนนี้ เขตกำลังทำหนังสือเรียกตัว คาดว่า(ข้อคิดเห็นของผมนะครับ) เดือนธันวาคมนี้น่าจะเรียบร้อย รู้สึกมีทั้งสิ้น 19 อัตรา โรงเรียนผมระบุเอกสังคมศึกษาก็อยู่ในชุดนี้แหละครับ

            เพื่อนผู้บริหารครับ โอกาสต่อไปผมจะส่งจดหมายเปิดผนึกของผมให้ท่าน ทางบล็อกของผมนะครับ เห็นท่าน ผอ.เขตทำ รู้สึกน่าสนใจ และรู้สึกเป็นส่วนตัว ไม่ต้องใช้ช่องทางราชการติดต่อกับพวกเรา ช่องทางติดต่อก็ใช้ช่องทางนี้นะครับ http://watcharin-sp.blogspot.com/    ลองเข้าไปดูได้ครับ นึกอะไรได้ก็บันทึกไป เข้าไปแสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะได้ครับ ได้ครับ พบกันใหม่ฉบับหน้าที่บล็อก http://watcharin-sp.blogspot.com/


                                                                                

หรือที่เขากล่าวหาเป็นความจริง

  
                ทุกครั้งที่ได้ยินการวิพากษ์ ว่าคุณภาพของเด็กนักเรียนที่ต่ำ เป็นผลมาจากคุณภาพของครูที่ต่ำลง บอกตรงๆ ในฐานะที่เป็นครูคนหนึ่ง ที่รับราชการครู มาไม่น้อยกว่า 26 ปี มีความรู้สึกอาย แล้วค่อยๆเปลี่ยนเป็นความรู้สึกไม่พอใจ พอได้ยินบ่อยเข้า ก็รู้สึกโกรธ แต่พอนานเข้า อายุมากขึ้นเห็นอะไรมากเข้า ก็ชักรู้สึกว่า หรือที่เขากล่าวหา เป็นความจริง
                เลยลองมานั่งครวญคิดพินิจดู ว่า ครู ภารกิจที่สำคัญของอาชีพนี้ คือการอบรมสั่งสอนศิษย์ ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีความรู้ คุณธรรม ตามหลักสูตรกำหนด ครูคือขุนพลในการรบทัพจับศึกกับความโง่ ความไม่รู้ของศิษย์ ชัยชนะของครูคือคุณภาพที่จะเกิดขึ้นกับศิษย์
                ถ้าเราจ้างช่างสร้างบ้าน เราก็คาดหวังว่า ช่างที่เราจ้าง จะสร้างบ้านให้เราสำเร็จเป็นไปตามแบบแปลนที่กำหนดแข็งแรงและสวยงามและเสร็จทันเวลา  ถ้าเราจะไปตัดเสื้อผ้าเราก็คาดหวังว่าช่างตัดเย็บเสื้อผ้าที่เราจ้าง จะตัดเย็บเสื้อผ้าให้เราตามที่ตกลงและสวยงามและเสร็จทันเวลา เช่นกัน ประชาชนจ้างให้ครูอบรมสั่งสอนลูกหลานของเขา ความคาดหวังของประชาชนต้องต้องคาดหวังเช่นเดียวกัน ส่วนจะคาดหวังอย่างไรนั้น ผมว่า เราในทั้งฐานะครูและฐานะที่เป็นพ่อเป็นแม่ของลูก ย่อมรู้ดี ท่านจะรู้สึกอย่างไรในฐานะที่เป็นพ่อเป็นแม่ ที่เห็นลูกเรียนถึงชั้น ป.4  แล้วลูกของท่านยังอ่านหนังสือไม่ออก ยังคิดเลขไม่ได้ ท่านจะบอกคนที่สอนลูกของท่านว่าอย่างไร  ในขณะเดียวกัน ท่านจะรู้สึกอย่างไร ที่นักเรียนที่ท่านสอนยังอ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้  ท่านสำเร็จหรือล้มเหลวในอาชีพของท่าน บังเอิญครับ สังคมไทยของเรามองครูเป็นพ่อแม่คนที่ 2 ของศิษย์ เป็นปูชนียบุคคลของสังคม อดคิดไม่ได้ครับ ถ้ามุมมองของสังคมกับครูเปลี่ยนไปเป็นนายจ้างกับลูกจ้าง ผมว่าเราอาจจะเห็นคนตกงานอีกเยอะแน่
                ผมจึงค่อยสงบลงกับคำวิพากษ์ข้างต้น กลับเป็นความกังวลขึ้นมาในใจว่า “หรือที่เขากล่าวหา เป็นความจริง”